Monday, October 8, 2007

การกุศลกับ Google Apps (บทความจากนิตยสาร Eworld เดือนกรกฏาคม 2550)

เรื่อง : Google Apps Education และโดเมน ac.th เพื่อการศึกษาไทย (การศึกษา 2.0)



บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "แผ่นดินของเรา" เป็นหนึ่งในบทเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะ ไม่ว่าจะอยู่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีประเภทใด ฟังครั้งใดก็ทำให้เกิดความรักชาติ รักแผ่นดิน อยากจะช่วยพัฒนาประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย



ในการแข่งขันความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ และความได้เปรียบทางการแข่งขันระหว่างประเทศ ใครก็บอกว่าทรัพยากรบุคคลของเราแพ้ประเทศอื่น เอาเป็นว่ายอมรับก่อนก็แล้วกัน แต่เราจะไปรอคอยได้อย่างไร เด็กไทยที่มีโอกาสน้อย มีสภาพความยากจน และความยากจนเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากกว่าอะไรที่สุดในชีวิตของคนและประเทศ ทุกคนบอกว่า การศึกษาจะทำให้หลุดพ้น ได้ จริงหรือไม่ ทั้งจริงและไม่จริง หลายชั่วอายุคนแล้วที่คนไทยยังไม่สามารถต่อสู้กับความยากจนได้ ชนชั้นกลางในประเทศ มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นได้ เทคโนโลยีก็ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ความสามารถทางการเรียนรู้ห่างกันไปอีกเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ชนบทเท่านั้น โรงเรียนในกรุงเทพมหานครที่ไม่ใช่โรงเรียนที่มีชื่อเสียง เด็กๆ ลูกหลานของเราที่พ่อแม่ไม่ร่ำรวยก็ไม่สามารถจะ ให้โอกาสกับลูกหลานได้



เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาสมีอยู่มากจริงๆ ผมเป็นเด็กชนชั้นกลางในจังหวัดเชียงใหม่ มีโอกาสได้เรียนหนังสือจนจบปริญญา มีโอกาสดีกว่าคนอื่นบ้าง ผมอยู่ทั้งสองสังคม ทั้งรวยและจน ผมผ่านมาทั้งชีวิตที่มีโอกาสกว่าคนอื่นอีกหลายสิบล้านคน แต่ในขณะเดียวกันบางช่วงชีวิตผมก็ยากไร้กว่าคนที่ยากจนในประเทศไทย แม้ว่าผมจะมีการศึกษาที่ดีกว่าคนเหล่านั้น ประเทศเราต้องมีปัญหาอะไรบางอย่าง แต่ก็ช่างมันเถอะครับ ผมเฉียดตายมาแล้ว 1 รอบ อยากทำอะไรให้กับประเทศไทยก่อนตายอย่างถาวร



ผมยังจำช่วงชีวิตเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ดี เมื่อผมเริ่มใช้อินเทอร์เน็ต ก็ยากไร้เหมือนกับที่เด็กต่างจังหวัดขาดแคลนเพราะทุกอย่างแพงหมด ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ อยากจะทำให้การศึกษาเท่าเทียมกัน ตอนนี้โลกอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแล้วและผมก็ทำได้ จะเล่าให้ทุกท่านฟัง





ขอบคุณ IP STAR
ผมมีความเชื่อว่าระบบการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ตของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะโรงเรียนในประเทศไทยเกือบทุกโรงเรียนมีอินเทอร์เน็ต ผ่านดาวเทียม IP Star ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ขอยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านขี้นาค หมู่ที่ 12 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีครูอยู่ 4 คน นักเรียน 29 คน อยู่บนเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์ หรือโรงเรียนบ้านแม่ปาคี อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ , โรงเรียนบ้านบ่อสี่เหลี่ยม อ.งาว จ.ลำปาง, โรงเรียนแม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ชีวิตผมมีโอกาสเดินทางไปกับตัวแทนเด็กนักเรียนไทย เพื่อไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในระดับประเทศ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เด็กเหล่านั้นเก่ง น่าชื่นชมครับ แต่ก็ยังมีเด็กอีกมาก ที่อยากจะเป็นแบบเขาเหล่านั้น มีสิ่งหนึ่งที่อยากแบ่งปัน คือ ผมเดินทางระหว่างเชียงใหม่กรุงเทพฯ อยู่เสมอ เห็นเด็ก ๆ เล่นเกมออนไลน์ ซึ่งใครจะว่าเกมออนไลน์อย่างไรก็ตาม แต่เกมพวกนั้นก็ทำให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างดีเยี่ยม ผมไปนั่งดูเด็กๆ เล่น รู้สึกทึ่งมากครับ เพราะเกมมีความซับซ้อนมาก ต้องใช้ทักษะและการเรียนรู้พอสมควร เรานั่งดูยังงงๆ เลย

ปัญหาโรงเรียนในกรุงเทพฯ
ปัญหาความไม่เท่าเทียมไม่ใช่อยู่ในชนบทหรือโรงเรียนที่ห่างไกลเท่านั้นนะครับ โรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่เป็นโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ก็น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่งครับ จากการสำรวจส่วนตัวของผม พบว่าโรงเรียนในกรุงเทพฯ มี 400 กว่าโรงเรียน จากการตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีอีเมล์ติดต่อกับโรงเรียนได้มีเพียง 207 แห่งเท่านั้น เมื่อส่งอีเมล์ไปหาอาจารย์ พบว่าอีเมล์ไม่มีผู้รับ ถูกตีกลับมาเกือบครึ่ง แสดงว่ามีเทคโนโลยี แต่ไม่ได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น คุณภาพของนักเรียนจะไม่เท่าโรงเรียนของเอกชน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะอินเทอร์เน็ตพร้อม ขาดแต่ไม่ได้เตรียมบุคลากรครูรองรับ ถ้าครูยังไม่ได้ใช้อีเมล์ นักเรียนก็ไม่ต้องพูดถึงครับ แต่เราจะเข้าไปช่วยเป็นส่วนร่วมช่วยพวกเขา ถ้าหากพร้อมให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง

Google Apps For Education (www.google.com/a/edu)



ต้องขอขอบคุณ Google แม้จะอยู่ในโลกของทุนนิยม แต่ก็ยังใจกว้างที่ให้กับการศึกษาทั่วโลกได้ใช้ระบบ Google Apps กันฟรีๆ ซึ่งมีความสามารถเฉกเช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่เสียเงิน ก่อนอื่นมารู้จักกับระบบนี้กันก่อนครับ ว่ามีความสามารถอะไร และจะปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของไทยให้เท่าทันกับโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร

ผมเริ่มรู้จัก Google Apps มาจากคุณพิชัย พืชมงคล แห่งสำนักงานกฎหมายธรรมนิติครับ จากนั้นก็เข้าไปดู แล้วให้คุณธรรมธัช ศรีเพ็ญ น้องชายที่เคารพนับถือ ไปศึกษาช่วยพี่ชายคนนี้หน่อย

Google Apps เป็นระบบซอฟต์แวร์บริหารองค์กรผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นเว็บแอพพลิเคชัน ถ้าหากองค์กรนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ไม่มีความหมายครับ อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์บนอินเทอร์เน็ตมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เอาล่ะ! ไม่ลงละเอียดครับ พื้นที่จำกัด

Google Apps ประกอบไปด้วย
- Gmail ที่สามารถใช้ภายใต้โดเมนเนมของตนเองได้ ซึ่งถ้าหากใครใช้ Gmail จะคุ้ยเคยอย่างมาก โดยให้พื้นที่ 2 GByte
- Google Calendar ปฏิทินออนไลน์ ที่สามารถบันทึกตารางปฏิทินส่วนตัว และแชร์ข้อมูลให้แก่องค์กร หรือเพื่อนร่วมงานได้
- Google Docs & Spreadsheets สำหรับพิมพ์งานเอกสารทำนองเวิร์ดโพรเซสเซอร์ และตารางคำนวณ สามารถแบ่งปันข้อมูล และร่วมกันแก้ไขเอกสารผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสะดวก
- Google Talk เป็นโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตและแชต ที่สามารถฝากเสียงโทรกลับ ประหยัดค่าใช้จ่ายในองค์กรโดยจะไม่มีค่าโทรศัพท์
- Google Page Creator สำหรับการสร้างเว็บไซต์โดยไม่ต้องมีความรู้ HTML
- Google Start Page เป็นศูนย์รวมข้อมูลอยู่ที่หน้าแรกสำหรับองค์กร ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้

นี่เป็นองค์ประกอบคร่าวๆ ของ Google Apps ครับ แต่ขอลงรายละเอียดของทั้ง 3 เวอร์ชัน เพื่อให้เห็นความแตกต่าง และเห็นว่า Google ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาอย่างไรบ้าง
- Standard Edition เหมาะสำหรับ SME โดย Google ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สามารถเพิ่ม Email User ได้ 200 ชื่อ แต่จะมีโฆษณาปรากฏทางด้านขวามือในอีเมล์
- Premier Edition เหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ Google คิดค่าบริหาร 50 เหรียญต่อคนต่อปี ให้พื้นที่ 10GB ไม่มีโฆษณาโชว์ สามารถเขียนโปรแกรมปรับแต่งให้เหมาะสมกับองค์ร และมีระบบสนับสนุนการบริหารให้
- Google Education Edition สำหรับภาคการศึกษา เหมือน Premier Edition ทุกประการ แต่ได้พื้นที่อีเมล์ 2 GB ไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้อีเมล์

ปัจจุบันภาคการศึกษา และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อย่างเช่น Kellogg, Thunderbird ก็ใช้ระบบ Google Education หันมาดูในประเทศไทยของเรา มหาวิทยาลัยสุรนารี และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็เริ่มใช้กันแล้วครับ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าโรงเรียนไหนก็ตามที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถใช้ Google Apps ได้ครับ และตอนนี้โรงเรียนในไทยที่ผมได้ตั้งไปแล้ว 10 กว่าโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ และอยู่ในระบบของบริษัท “ดอทอะไร” กว่า 100 โรงเรียน

Google Inc. กับ บริษัท “ดอทอะไร” (www.dotarai.co.th)
ระบบการศึกษาของประเทศไทยจะต้องนึกถึงทีมงานเล็กๆ ของบุคคลที่มีชื่อดังต่อไปนี้ ที่จะทำให้บทบาทของการศึกษาไทยเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย โดยสามารถทำให้ครูและนักเรียนไทยมีวิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีเรียน วิธีการสื่อสารเหมือนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เพราะเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง (เหมือนบทเพลง Wind Beneath My Wings ของ BETTE MIDLER - ลมใต้ปีก มีความหมายถึง บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ชีวิตของคนๆ หนึ่งต้องมีผู้สนับสนุนกันทั้งนั้น)

เริ่มต้นด้วย คุณพรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการ Google ประเทศไทย ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ คิดว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนในประเทศไทยสามารถจะใช้ระบบ Google Apps For Education ทีแรกจะไปติดต่อกับทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็คงมีภาระมาก และไม่ได้เป็นหน่วยงานที่รับจดโดเมนเนม .ac.th ด้วย

คุณพรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการ Google ประเทศไทย

คุณเพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล กรรมการผู้จัดการ ดอทอะไร จำกัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น Authorized reseller ของ THNIC ในการจดโดเมนโรงเรียนฟรีในปีแรก และบริการตั้งค่าการใช้งานจนโรงเรียนสามารถใช้งาน ซึ่งถ้าไม่มีดีลนี้เกิดขึ้นก็ไม่สามารถทำได้เลยครับ

คุณเพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท “ดอทอะไร”


เพราะฉะนั้นต้องปรบมือให้กับสองท่านนี้และทีมงานผู้เกี่ยวข้องกับ Google และบริษัท ดอทอะไร จำกัด ทุกท่านครับ (หมายเหตุ : แต่ปีที่สอง โรงเรียนจะต้องเสียค่าจดโดเมนเนมเองครับ แต่แค่นี้ก็เยี่ยมแล้ว เพราะในโลกธุรกิจทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายครับ)

รายการเปิดโลกซอฟต์แวร์ จุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาใหม่
คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และงานประจำ กึ่งอดิเรกของคุณชนิตร คือ เป็นหัวหน้าทีมจัดรายการวิทยุ เปิดโลกซอฟต์แวร์ ทาง FM 92.5 สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ทุกวันอาทิตย์เวลา 18.00-19.00 น. ร่วมกับคุณพันฑิต สิระภพธาดา และผู้เขียน ได้จัดรายการนี้มา 6 ปี ความพิเศษของรายการนี้คือ มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ (ใส่สูท) กับผู้เขียน


คุณพันฑิต สิระภพธาดา

เราก็จัดมาเรื่อยๆ ครับ เรื่องเทคโนโลยทั้งหมด จัดมาทุกประเภทแล้ว ในวันอาทิตย์ปลายเดือนพฤษภาคม เราก็ได้จัดเรื่อง Google Apps For Education ว่ามีประโยชน์กับภาคการศึกษาอย่างไร ซึ่งคุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ในอีกฐานะเป็นกรรมการบอร์ดของ SIPA (สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ) ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า "ช่วยประหยัดงบประมาณด้านเทคโนโลยีหลายร้อยล้านบาทให้แก่ประเทศไทย" ระหว่างที่จัดรายการผมเลยอาสาว่า จะลองติดตั้งให้แก่โรงเรียนที่โทรเข้ามาในรายการให้ฟรี ซึ่งตอนนั้นจะต้องเสียค่าโดเมนเนมให้แก่โรงเรียน ตอนแรกก็กะว่าจะจ่ายเอง โดยจะจัดสัมมนาหาเงิน ปรากฏว่า ได้โทรไปปรึกษากับคุณภาคภูมิ ผู้บริหารของ THNIC ว่าจะใช้โดเมน .ac.th จำนวนมาก ภายหลังจึงทราบว่าทาง Google กำลังดีลกับ บริษัท ดอทอะไร จำกัด ผมเองก็เลยไม่ต้องควักสตางค์

หลังจากที่ออกรายการวิทยุไป แฟนรายการที่ฟังรายการเปิดโลกซอฟต์แวร์ ที่เป็นครูบาอาจารย์ก็โทรเข้ามา เพื่อขอความจำนงอยากมีโดเมนเนมและมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง เพราะที่ผ่านมา มีอินเทอร์เน็ต แต่ครูและนักเรียนไปใช้ฟรีอีเมล์กันมาก ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คุณชนิตร เห็นประโยชน์จึงได้ให้โอกาสเวลาประชาสัมพันธ์ได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยการศึกษาของประเทศไทยให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น

โครงการ "การศึกษา 2.0" (www.thaiventure.com/edu2)


หลังจากจัดรายการ โรงเรียนก็โทรมากันมากขึ้น ผมเลยคิดว่าจะใช้ชื่ออะไรให้สื่อสารกับครูได้ง่ายๆ จึงตั้งชื่อขึ้นมาว่า โครงการ "การศึกษา 2.0" เพราะช่วงนี้ แนวคิด Web 2.0 กำลังดัง เขามี Enterprise 2.0, Education 2.0 เราก็เอาเป็นชื่อ ไทยๆ ว่า การศึกษา 2.0 ก็แล้วกัน เพราะแนวคิดของ Web 2.0 มาพร้อมกับ Social + Network การศึกษายุคใหม่ที่เรากำลังใช้ Google Apps ก็เป็นลักษณะเช่นนั้นเดียวกัน

ก่อนที่จะทำ "การศึกษา 2.0" ที่บริษัทไทยเวนเจอร์ดอทคอม ซึ่งผมก่อตั้งขึ้นมา ได้อบรมเกี่ยวกับ Google Apps ตอนแรกตั้งชื่อหลักสูตรว่า "Google For SME" จัดอบรมไปได้ 1 รุ่น มานั่งคิดดูแล้ว ชื่อ SME นี่ดูมันเชยจริงๆ คนไม่ค่อยเห็นคุณค่า กลับดูถูกอีก (ผมเคยปะทะคารมกับพวกด็อกเตอร์ที่ดูถูกพวก SME) วันนี้เราก็ขอเปลี่ยนใหม่แล้วกัน ขอเป็น Google For Enterprise 2.0 โดยเก็บเงินค่าสัมมนาจากพวกบริษัทห้างร้าน แต่ครูบาอาจารย์ไม่เก็บเงิน โดยอบรมมาแล้ว 1 รุ่น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา แนวคิดเพื่อให้ครูอาจารย์อบรมกับฝั่งธุรกิจไปเลย (โครงการนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับพี่ใหญ่ ระหว่าง Google กับ ดอทอะไร แต่เราเป็นน้องเล็กสนับสนุนพี่ใหญ่เขา) รุ่นถัดไปจะอบรมวันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคมนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่

กระบวนการทำงาน ติดตั้งโดเมนเนม .ac.th และอีเมลให้กับโรงเรียน
ถ้าใครอ่านหนังสือ The world is flat คงเข้าใจนะครับว่า โลกทุกวันนี้มันแบนราบลงไป ผู้คนทั่วโลกทำงานผ่านจอคอมพิวเตอร์ การทำงานของผมกับทีมงานดอทอะไร และ Google ก็ทำผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด อาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษาหลายคนคิดว่า ผมจะต้องไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตให้แก่โรงเรียนด้วยตัวเอง แต่เปล่าเลย ผมนั่งทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ ใกล้ดอยสุเทพ ส่วนทีมงานของคุณเพ็ญศรี บริษัทดอทอะไร อยู่ที่กรุงเทพฯ และคุณพรทิพย์อยู่ที่สิงคโปร์ วิธีการติดตั้งระบบโดเมนเนม และ Google Apps มีขั้นตอนดังนี้ (หลังจากนี้ อาจเปลี่ยนแปลงเพราะทางดอทอะไร และ Google กำลังพัฒนาระบบเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น)

1. คุณครูจะมาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.thaiventure.com ในหัวข้อการศึกษา 2.0
2. ผมจะเปิดฐานข้อมูลดู และโทรศัพท์กลับมาไปหาคุณครูเพื่อสอบถามรายละเอียดว่าโรงเรียนเป็นอย่างไร มีครูและนักเรียนเท่าไหร่ มีคอมพิวเตอร์กี่เครื่อง พร้อมกับอธิบายเกี่ยวกับ Google Apps และย้ำว่าไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร แต่ในปีที่ 2 โรงเรียนจะต้องจ่ายค่าโดเมนเนมประมาณ แปดร้อยกว่าบาท ซึ่งพรรคพวกผมกำลังจะสนับสนุนกันอยู่ ครูและอาจารย์จะได้ไม่ต้องกังวล เพราะครูที่ดูแลเรื่องอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่แล้วเป็นครูน้อย
3. ดำเนินการจดโดเมนเนมให้แก่โรงเรียน
4. อาจารย์เตรียมเอกสารสำหรับจดโดเมนเนมส่งให้กับทางดอทอะไร
5. ดำเนินการติดตั้ง Google Apps For Education ให้กับโรงเรียน และอธิบายวิธีการใช้ พร้อมกับส่งไฟล์ให้อาจารย์เตรียมรายชื่อครูและนักเรียนเพื่อเพิ่มอีเมล์
6. เมื่อเอกสารผ่าน ระบบก็ใช้งานได้ทันที
7. ผมจะโทรไปเทรนอาจารย์ให้ติดตั้ง Google Talk ในการส่งเอกสารใช้ Google Doc, ส่งตารางอบรมและรายชื่อโรงเรียนที่ติดตั้งไปแล้ว เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน
8. อบรมให้แก่ครูและอาจารย์ถึงวิธีการใช้ทั้งหมด ทั้งในส่วนของสัมมนา Google For Enterprise ร่วมกับภาคธุรกิจ และอบรมผ่านอินเทอร์เน็ต
9. ติดตามสอบถามอาจารย์ว่าใช้งานไปก้าวหน้าเพียงใด และมีอุปสรรคอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้ ถ้าส่งเอกสารเร็วใช้เวลาเพียง 3 วันก็ใช้งานได้แล้ว แต่ถ้าหากระบบใหม่ที่พัฒนาขึ้น คงใช้เวลาน้อยกว่านี้

น้ำใจของครูไทย
หลังจากผ่านมา 1 เดือน ตั้งแต่ทำโครงการมา พบว่าครูของเรามีความเสียสละเป็นอย่างสูงในการช่วยพัฒนาบุคลากรของชาติ สิ่งที่ผมได้ลงแรงทำนั้น (ส่วนตัวเองนะครับ) ไม่สามารถเทียบเท่าความเสียสละของครูเหล่านั้นได้ ผมขอชื่นชมในน้ำใจที่งดงามเหล่านั้น เช่น อาจารย์ไพโรจน์ ใจดี แห่งโรงเรียนบ้านหนองยาง อ.ลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ทั้งโรงเรียนมีครู 5 คน นักเรียน 100 กว่าคน คอมพิวเตอร์ 6 เครื่อง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ถึงไม่มีแฟกซ์ แต่โรงเรียนนี้ ครูและนักเรียนใช้อีเมล์ @bannongyang.ac.th, ใช้ Google Calendar, Google Talk กันแล้ว ผมขอชื่นชมในความก้าวหน้าและความมุ่งมั่นในการให้การศึกษาทางด้านเทคโนโลยีกับเด็กนักเรียน

อาจารย์ไพโรจน์ ใจดี ผู้อำนวยการ รร.บ้านหนองยาง อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ


น้ำใจพี่น้องผองเพื่อน
องค์กรอะไรก็ตามไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยคนๆ เดียว มีบุคคลที่ผมบอกว่าเป็นลมใต้ปีกเหมือนที่กล่าวข้างต้นทั้งที่เอ่ยนามและไม่ได้เอ่ยนาม อาทิ คุณพันธุ์ทิตต์ สิรภพธาดา ผู้จัดรายการวิทยุร่วมกับผมเป็นพี่ชายที่ให้คำปรึกษา และจะรับโรงเรียนที่ได้ติดตั้งระบบให้ช่วยให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาเว็บไซต์ให้กับโรงเรียน ส่วนคุณ ศรัณย์ ยุวรรณะ อดีตนักคาราเต้ทีมชาติไทย น้องชายเพื่อนร่วมงานในทีม Thaiventure.com มารับช่วงต่อในการบรรยาย ในหลักสูตร Google For Enterprise 2.0 ศึกษาคุณสมบัติทุกอย่างของ Google Apps อย่างถ่องแท้ ทำอย่างทุ่มเทเช่นกัน ขอขอบคุณมากๆ

คุณศรัณย์ ยุวรรณะ

ส่งท้าย
สิ่งที่พวกเราทำเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างสรรค์ให้สถาบันการศึกษาของชาติ บุญกุศุลและความต้องใจดีอันใดที่เกิดขึ้น ขอให้พรนั้นจงดลบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข ขอฝากโครงการนี้ไว้กับทุกท่านด้วยครับผม สำหรับท่านใดที่ต้องการจะดูภาพโรงเรียนที่ติดตั้งไปแล้วสามารถชมได้ที่ http://picasaweb.google.com/thaiventure.com

3 comments:

Anonymous said...

ขออนุโมทนาในกุศลจิต ของคุณชีพธรรมและทีมงาน
มา ณ ที่นี้ด้วย


และขอแบ่งบุญจากการรักษาศีลอุโบสถที่ผ่านมา
ให้ทีมงานทุกท่าน ขอให้ทุกท่านจงได้รับบุญของข้าพเจ้าด้วยเทอญ สาธุ

และขออวยพรให้งานนี้จงสำเร็จลุล่วงสมตาม
ความปรารนาของทุกๆท่าน

Thaiventure.com said...

ขอบคุณมากนะครับ ขอให้ผลของการตั้งใจที่ดีงามในการทำงานครั้งนี้ ถึงแก่ทุกท่านด้วยครับผม

ชีพธรรม คำวิเศษณ์

นายต้มยำ said...

ขออนุโมทนาด้วยคนครับ ยินดีที่ช่วยกันเกื้อหนุนโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยครับ